แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแบบยั่งยืน



โดย ผศ.โชติไกร ไชยวิจารณ์
089 1357 859

๑. ปัญหาและสาเหตุของการเกิดน้ำท่วม

ฝนตก...น้ำหลาก...น้ำท่วม
ปรากฏการณ์นี้เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานานและนับวันดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะไม่ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงเหมือนแผ่นดินไหวหรือไฟไหม้ แต่ก็ทำให้มีการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมากในหลาย ๆ เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น กรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง เมื่อมีเหตการณ์พายุฝนตกหนักและรุนแรง เป็นต้น

หากลองวิเคราะห์ปัญหาที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในบ้านเราที่กำลังประสบกันอยู่ก็จะพบว่าน่าจะมาจากสาเหตุต่างๆดังนี้ คือ

๑. ๑ ปริมาณฝนที่ตกหนักถึงหนักมากติดต่อกันในช่วงฤดูฝน
จากการที่ประเทศไทยของเราตั้งอยู่ในเขตมรสุม(Moonsoon) มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนึอสลับกันพัดผ่านเกือบตลอดปี อิทธิพลของลมมรสุมทั้งสองได้ก่อให้เกิดผลต่างกันดังนี้ คือ


อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดจากมหาสมุทรอินเดียหรืออ่าวเบงกอลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมไปจนถึงประมาณกลางเดือนตุลาคม จะก่อให้เกิดฝนตกหนักกระจายเกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่อาจมีฝนตกประปรายเพราะมีเทือกเขาตะนาวศรีปิดกั้นอิทธิพลมรสุมเอาไว้ ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเรียกว่าฤดูฝนของประเทศไทย

ส่วนลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งพัดมาจากแถบไซบีเรียในช่วงประมาณกลางเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์แม้จะก่อให้เกิดฤดูหนาวขึ้นในส่วนตอนบนของประเทศแต่ก็ก่อให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมในบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรถึงนราธิวาสเกือบทุกปีเช่นเดียวกัน

นอกจากฝนที่เกิดจากลมมรสุมทั้งสองดังที่กล่าวแล้ว ยังมีอิทธิพลอื่นๆที่สำคัญ ได้แก่ อิทธิพลของร่องความกดอากาศ(Through) อิทธิพลของพายุหมุนหรือหย่อมความกดอากาศต่ำ(Depression)ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน ดังนั้น เมื่อผสมรวมกันจึงทำให้ฝนตกต่อเนื่องโดยเฉลี่ยประมาณ ๑๐๐๐ - ๑๕๐๐ มิลลิเมตรต่อปีและเป็นสาเหตุหรือที่มาของการเกิดน้ำหลาก น้ำท่วมอย่างรุนแรง




๑.๒ การขยายตัวอย่างขาดการวางแผนของชุมชนเมืองต่างๆทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ในอดีตมักมีการตั้งบ้านเรือนหรือชุมชนต่างๆตามริมแม่น้ำเพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต แต่ด้วยภูมิปัญญาของคนยุคก่อนที่เฝ้าสังเกตุและเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ ดังนั้น การสร้างบ้านเรือนริมน้ำจึงมักมีการยกใต้ถุนสูงให้ตัวบ้านพ้นระดับน้ำหลากสูงสุดที่เคยท่วมเพื่อหนีปัญหา และแม้น้ำจะท่วมใต้ถุนเรือนก็ไม่เดือดร้อนเพราะมีเรือพายหรือเรือแจวช่วยในการสัญจรไปไหนมาไหนได้ แถมยังมีการจัดงานรื่นเริง เช่น การเผาเทียนเล่นไฟเป็นที่สนุกสนานไม่ทุกข์ร้อน

เวลาผ่านไปชุมชนดังกล่าวมีการขยายตัวขึ้นเรื่อยๆตามจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น แต่มาระยะหลังผู้คนใส่ใจและเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติน้อยลงและหันไปใส่ใจกับเศรษฐกิจและความมั่งคั่งตามวิถีตะวันตกมากขึ้น วิถีชีวิตและความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไป สภาพบ้านเรือนเปลี่ยนจากวิถีไทยแบบบ้านมีใต้ถุนสูงไม่เดือดร้อนแม้ถูกน้ำท่วมมาเป็นสไตล์ยุโรปหรือตะวันตก เน้นความสวยงามของรูปทรงที่แปลกตาทั้งบ้านชั้นเดียว บ้านสองชั้นที่เห็นกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบันโดยทุกคนมิได้ตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมาในอนาคต

๑.๓ การถมที่สร้างบ้านจัดสรรหรือขยายเมืองไปในทิศทางที่เป็นที่ต่ำหรือที่ลุ่ม  
มีการสร้างบ้านจัดสรรโดยการเอาดินไปถมที่ลุ่มที่ราคาถูกแล้วสร้างบ้านขายในราคาแพง บ้านจัดสรรยุคก่อนๆที่ถมที่ลุ่มสร้างเสร็จใหม่ๆน้ำไม่เคยท่วมเพราะข้างเคียงหรือรอบๆยังมีแหล่งรองรับน้ำฝนเอาไว้ได้อย่างพอเพียง แต่เมื่อคนอื่นๆมองเห็นโอกาสของความมั่งคั่งบ้างต่างก็เร่งถมเร่งสร้างและทุกคนก็กะหนีเอาตัวรอดโดยการถมที่ของตัวเองให้สูงกว่าข้างเคียงเข้าไว้ คนอื่นจะเป็นอย่างไรก็ช่างขอที่ของตัวเองน้ำไม่ท่วมเป็นใช้ได้
                      

ดังนั้น เมื่อที่รองรับน้ำถูกถมกลายเป็นบ้านจัดสรรอย่างขาดการวางแผนและควบคุม เมื่อฝนตกหนักจึงทำให้เกิดการท่วมขังและแน่นอนว่าหากระบบระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพด้วยแล้วปัญหาก็จะยิ่งหนักหน่วงและรุนแรงซึ่งเป็นจุดอ่อนที่จะถูกน้ำท่วมได้ง่าย

๑.๔ ขาดการวางแผนและการใช้มาตรการในการป้องปรามทางด้านกฎหมาย

เช่นกฎหมายผังเมืองรวม ของแต่ละจังหวัด อำเภอ หรือเทศบาล ไม่มีความสอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพหรือไม่อย่างไร เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย เช่น การตัดไม้ทำลายป่าทำให้เกิดการหลากเร็วขึ้น การก่อสร้างถนนหนทางขวางทางน้ำหลากและมีการระบายน้ำไม่เพียงพอ การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่แก้มลิงตามธรรมชาติไปทำประโยชน์อย่างอื่นเนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น การที่ไม่มีการก่อสร้างเขื่อน เป็นต้น

๒. แนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน


ปัญหาทั้งหมดดังที่กล่าวข้างต้นนั้นหากปล่อยให้ดำรงอยู่และดำเนินเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ แน่นอนว่าความรุนแรงและความเสียหายก็จะทับทวีและมีความซับซ้อนของปัญหามากยิ่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย หรือหากจะปล่อยให้แต่ละฝ่ายแต่ละหน่วยงาน เช่น อบต.หรือเทศบาลที่ประสบปัญหาต่างไปดำเนินการก็คงไม่สำเร็จ และอาจทำให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณของแผ่นดินอย่างไม่คุ้มค่า หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่อื่นๆตามมาอย่างคาดไม่ถึง ทั้งนี้เพราะปัญหาเรื่องน้ำแตกต่างจากปัญหาอื่นโดยสิ้นเชิงตรงที่ไม่สามารถแก้ไขเฉพาะแห่งหรือเฉพาะจุดได้ เพราะลำน้ำมีความยาวและมีการไหลผ่านพื้นที่หรือชุมชนต่างๆต่อเนื่องกันไป ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมหรืออุทกภัยจะต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องน้ำโดยเฉพาะโดยจะต้องศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาอย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำเลยทีเดียว ถ้าเป็นไปได้ควรจะดำเนินการเรื่องนี้เป็น วาระแห่งชาติ โดยเร่งด่วนที่สุด

แต่ในเบื้องต้นใคร่ขอเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาซึ่ง ณ ขณะนี้มี ๒อย่าง คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วและดำรงอยู่ในปัจจุบัน กับปัญหาที่ยังไม่เกิดแต่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตหากไม่มีมาตรการป้องกันดังนี้

๒.๑ การแก้ปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่อดีตและดำรงอยู่ในปัจจุบัน
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้านเรือน การขยายตัวของชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำสายสำคัญๆที่ในระยะหลังไม่ได้ปลูกบ้านมีใต้ถุนสูงเลยระดับน้ำหลาก แต่ไปนิยมชมชอบรูปแบบบ้านแบบยุโรปหรือตะวันตกโดยมิได้ตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมาเมื่อมีการหลากล้นตลิ่ง หรือการถมที่สร้างบ้านจัดสรรหรือขยายเมืองไปในทิศ ทางที่เป็นที่ต่ำหรือที่ลุ่มซึ่งเป็นจุดอ่อนที่จะถูกน้ำท่วมได้ง่ายเมื่อเกิดฝนตกเนื่องจากประสิทธิภาพการระบายน้ำไม่ดีพอจะต้องใช้มาตรการต่างๆ ได้แก่

๒.๑.๑ การป้องกันปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอกคือน้ำที่จะหลากเข้าท่วมโดยใช้มาตรการปิดล้อมพื้นที่หรือชุมชนที่ไม่ต้องการให้ถูกน้ำท่วมโดยการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมโดยรอบ ได้แก่ การก่อสร้างคันกั้นน้ำตามแนวลำน้ำหรือใกล้เคียง การยกระดับของถนนบางสายให้สูงกว่าระดับน้ำหลากสูงสุด รวมถึงการก่อสร้างประตูน้ำตามคู คลองต่างๆ เป็นต้น เพื่อปิดกั้นไม่ให้น้ำจากภายนอกเข้ามาในพื้นที่ป้องกันได้

๒.๑.๒ การแก้ไขปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายในคือฝนที่ตกหนักลงในพื้นที่โดยตรงโดยการแก้ไขปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพสามารถรองรับอัตราการไหลได้อย่างเหมาะสม และจัดหาพื้นที่บาง ส่วนสำหรับทำเป็นแก้มลิงหรือบึงพักน้ำฝนชั่วคราว พร้อมติดตั้งสถานีสูบน้ำเพื่อสูบน้ำระบายออกจากพื้นที่กรณีที่น้ำภายนอกสูงกว่าระดับน้ำภายในพื้นที่ป้องกัน

๒.๑.๓ ให้มีการออกแบบและก่อสร้างคลองระบายน้ำหรือคลองผันน้ำสายใหม่เพื่อผันน้ำจากลำน้ำเดิมที่เคยไหลผ่านพื้นที่โดยตรงออกไปทิ้งยังจุดที่ต้องการ เพื่อมิให้เกิดการไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ป้องกัน

๒.๑.๔ ให้มีการเร่งออกประกาศและบังคับใช้กฎหมายผังเมืองอย่างเคร่งครัด

๒.๒ การป้องกันปัญหาใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นการหามาตรการเพื่อเตรียมการป้องกันปัญหาดังนี้

๒.๒.๑ พื้นที่ที่อยู่ริมแม่น้ำ

๑. ให้มีการยกร่างกฎหมายโดยอาจออกประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อกันเขตแม่น้ำสายสำคัญๆซึ่งในประเทศไทยมีอยู่ ๒๕ ลุ่มน้ำเหมือนการเวณคืนที่เพื่อสร้างถนน โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำหรือย่านชุมชนที่คาดว่าจะมีการขยายตัวในอนาคตและมีโอกาสเกิดการหลากล้นตลิ่งเข้าไปท่วมได้ ส่วนความกว้างวัดจากแม่น้ำออกไปสุดแนวเขตเป็นระยะเท่าใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ไป โดยกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตที่ยอมให้น้ำหลากท่วมได้(Flood plain)หรือจะเรียกว่าพื้นที่ควบคุมน้ำท่วม

๒. ให้มีการก่อสร้างแนวคันดินกั้นน้ำที่มีความสูงเหนือระดับน้ำหลากสูงสุดตามแนวเขตพื้นที่ควบคุมที่ประกาศเพื่อป้องกันน้ำมิให้น้ำหลากท่วมพื้นที่ภายนอก

๓. ให้มีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมสิ่งปลูกสร้างที่จะเกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่ควบคุม เป็นต้นว่า หากใครจะปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัยจะต้องปลูกแบบยกพื้นมีใต้ถุนสูงพ้นระดับน้ำหลากสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ห้ามถมดินเพื่อก่อสร้างโดยเด็ดขาด เพื่อมิให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวด ล้อมและเพื่อให้ทุกคนรู้สภาพปัญหาของตัวเองและพร้อมที่จะยอมรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมกันนั้นก็จะได้เตรียมหาทางพึ่งพาตนเองซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาแต่ละครั้งลงได้มาก

๔. รณรงค์ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกวดขันเพื่อให้มาตรการสัมฤทธ์ผลแบบยั่งยืนแทนการไล่ตามแก้ปัญหาดินพอกหางหมูแบบไม่รู้จบ

๒.๒.๒ การถมที่ต่ำหรือที่ลุ่มที่เป็นจุดอ่อนต่อการถูกน้ำท่วม

๑. นำมาตรการทางด้านกฎหมายผังเมืองมาบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดให้พื้นที่ที่มีลักษณะดังกล่าวเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม เป็นต้น

๒. ห้ามมิให้มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ให้แตกต่างไปจากสภาพเดิมโดยการถมที่ การปลูกสร้างบ้านเรือนให้ปลูกสร้างตามลักษณะทางกายภาพของพื้นที่เป็นหลัก เช่น ปลูกแบบมีใต้ถุนสูง เป็นต้น

นอกจากการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังที่กล่าวแล้วอาจต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาช่วยเสริม ได้แก่ การเร่งก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก เช่น ลุ่มน้ำยม การก่อสร้างฝายแบบขั้นบันไดเพื่อให้เป็นแก้มลิงคอยช่วยชะลอการหลากในพื้นที่เสี่ยงภัย เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้จะให้ได้ผลลัพธ์ร้อยเปอร์เซ็นต์คงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะต้องยอมรับสภาพความจริงก่อนว่าการขยายตัวอย่างกระจัดกระจายและขาดการวางแผนของชุมชนเมืองตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้การตามแก้ปัญหาเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ไม่แตกต่างจากการแก้ปัญหาการจราจรของกรุงเทพฯในปัจจุบัน แต่กระนั้นก็คงจะดีกว่าที่เราจะไม่ยอมลุกขึ้นมาหาทางป้องกันหรือทำอะไรเลยมิใช่หรือ ?  

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ระบบเสาและคาน (Skeleton Frame or Column and Beam)

Diaphragm Wall