รอยร้าวในอาคาร และการตรวจสอบ (ต่อ)
2.4.2 รอยร้าวเนื่องจากโครงสร้างรับน้ำหนักบรรทุกเกินกำลัง
เมื่อโครงสร้างรับน้ำหนักบรรทุกเกินกำลังจะเกิดการแอ่นตัวมาก รอยร้าวส่วนใหญ่มักจะเกิดบริเวณช่วงกลางของโครงสร้างที่รับน้ำหนักบรรทุกนั้นๆ
2.4.2.1 คาน
2.4.2.1 คาน
หากคานมีขนาดเล็กเกินไป หรือรับน้ำหนักบรรทุกมากเกินกำลังจะแอ่นตัวมากจนเกิดรอยร้าวและรอยแตกร้าวที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะดังนี้
1) ช่วงกลางคานรอยแตกร้าวจะเกิดขึ้นที่ใต้ท้องคานบริเวณช่วงกึ่งกลางความยาวมีลักษณะเป็นรูปตัวยู คือ แตกจากด้านล่างและต่อเนื่องขึ้นแนวดิ่งทั้งสองด้านของคานสังเกตตรงตำแหน่งรอยแตกร้าวจะพบว่าด้านล่างจะแตกกว้างกว่าด้านข้าง นั่นแสดงว่าตำแหน่งที่เริ่มแตกร้าวเกิดขึ้นจากใต้ท้องคานแล้วลุกลามออกด้านข้าง เมื่อคานแอ่นตัวมากขึ้น รอยร้าวก็จะเกิดเพิ่มมากขึ้นดังในรูปที่ 2.8
รูปที่ 2.8 รอยร้าวช่วงกลางคานเป็นรูปตัวยูรอยแตกจะเริ่มจากใต้ท้องคาน แล้วแตกลามออก
ด้านข้างของคานในแนวดิ่ง
2) ช่วงปลายคาน รอยร้าวที่ปลายคานจะเริ่มเกิดขึ้นที่ด้านบนและแตกร้าวลงด้านข้างของคานซึ่งอาจเป็นได้ทั้งแนวดิ่งและแนวเอียง เมื่อปลายคานด้านหนึ่งแตกร้าวปลายอีกด้านหนึ่งก็มักจะแตกร้าวในลักษณะเดียวกัน โดยทั่วไปรอยร้าวที่ปลายคานจะเกิดขึ้นภายหลังรอยร้าวที่กลางคาน และมักจะเกิดขึ้นเพราะคานแอ่นตัวมาก ดังนั้นเมื่อพบว่าบริเวณช่วงกลางคานเริ่มมีรอยแตกร้าวและวิเคราะห์แล้วว่าน่าจะเป็นเพราะการแอ่นตัวควรรีบดำเนินการแก้ไขก่อนที่จะเกิดการแอ่นตัวมากจนกระทั่งปลายคานแตกร้าวตามไปด้วยดังในรูปที่ 2.9
รูปที่ 2.9 รอยแตกร้าวที่ปลายคานเนื่องจากคานรับน้ำหนักไม่ไหวนั้นมักจะเกิดขึ้นที่ปลาย
ทั้งสองข้างของคาน รอยแตกจะเกิดในลักษณะเฉียงหรือแนวดิ่ง
2.4.2.2 พื้น
สำหรับพื้น เมื่อแบกภาระรับน้ำหนักบรรทุกมากเกินไปจะเกิดการแอ่นตัวและมีรอยแตกร้าวตามตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้
1) ท้องพื้น หากเป็นพื้นคอนกรีตหล่อในที่ชนิดเสริมเหล็กสองทาง (Two-Way Slab) จะเกิดรอยแตกที่ท้องพื้นบริเวณช่วงกลางรอยแตกร้าวจะมีลักษณะเฉียงจากบริเวณกึ่งกลางนั้นเข้าหาเสาทั้งสี่มุมอาจเกิดให้เห็นทั้งสี่รอยหรือน้อยกว่าดังในรูปที่ 2.10 หากเป็นพื้นคอนกรีตหล่อในที่ชนิดเสริมเหล็กทางเดียว (One-Way Slab) จะเกิดรอยแตกร้าวที่กลางท้องพื้นเป็นเส้นตั้งฉากกับแนวเหล็กเสริมหลักดังในรูปที่ 2.11
รูปที่ 2.10 พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กสองทางรับน้ำหนักไม่ได้จะเกิดการแอ่นตัว และแตกร้าว
ที่ท้องพื้นเป็นลักษณะเฉียงเข้าหาเสาทั้งสี่มุม
รูปที่ 2.11 พื้นชนิดเสริมเหล็กทางเดียวเมื่อรับน้ำหนักบรรทุกเกินกำลังจะแอ่นตัวและแตกร้าว
ที่ท้องพื้นในทิศทางตั้งฉากกับเหล็กเสริมหลัก
2) ขอบพื้น เมื่อพื้นรับน้ำหนักแล้วเกิดการแอ่นตัว พื้นด้านบนบริเวณขอบคานทั้งสี่ด้านจะแตกร้าว และอาจมีรอยแตกที่มุมเสาทั้งสี่มุมดังในรูปที่ 2.12
รูปที่ 2.12 รอยร้าวที่ด้านบนของพื้นเมื่อพื้นรับน้ำหนักแล้วเกิดการแอ่นตัวที่บริเวณมุมเสาทั้งสี่มุม
และขอบคาน
2.4.2.3 เสา
เมื่อเสารับน้ำหนักบรรทุกไม่ได้จะเกิดการโก่งเดาะคอนกรีต ช่วงกลางเสาจะระเบิดออกและเหล็กเสริมหักงอ เมื่อเสาเริ่มโก่งเดาะก็จะเกิดรอยแตกร้าวบริเวณด้านของเสาที่โก่งออกเพราะเป็นด้านที่รับแรงดึง ส่วนด้านที่โค้งเข้าจะไม่มีรอยแตกร้าวเนื่องจากเป็นด้านที่รับแรงอัดรอยแตกร้าวจะมีลักษณะเป็นปล้อง ๆ แนวนอนลักษณะการแตกร้าวของเสาและแนวเหล็กเสริมที่บิดงอเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยในการวิเคราะห์สาเหตุได้ดี ตัวอย่างเช่น
เสาที่แตกร้าวเป็นปล้อง ๆ ในแนวนอนและเกิดเพียงด้านใดด้านหนึ่ง หรือคอนกรีตแตกออกจนเห็นเหล็กเสริมหลักทั้งหมดบิดงอไปด้านเดียวกันลักษณะเช่นนี้เป็นเพราะมีโครงสร้างส่วนอื่นดึงรั้งจนทำให้เกิดการโน้มเอียง หรือเป็นเพราะเสาต้นนั้นมีความสูงชะลูดมากเกินไปจนทำให้โก่งงอไปด้านใดด้านหนึ่ง
คอนกรีตบริเวณแกนกลางเสาแตกระเบิดออกเหล็กเสริมหลักทุกเส้นหักงอเป็นรูปตัว U แสดงว่าคอนกรีตในช่วงดังกล่าวไม่สามารถรับน้ำหนักได้ และส่วนมากมักจะเกิดจากคอนกรีตขาดความต่อเนื่อง เหล็กเสริมจึงต้องเป็นตัวรับแรงอัดแทน เมื่อรับน้ำหนักไม่ได้จึงหักงอ
2.4.2.4 ผนัง
กรณีที่โครงสร้างหลักรับน้ำหนักไม่ได้จะส่งผลให้ผนังที่อยู่ติดกับโครงสร้างนั้นแตกร้าว เช่น เมื่อคานแอ่นตัวผนังซึ่งอยู่ใต้คานจะถูกกดทับจนแตก รอยแตกร้าวมักจะเกิดขึ้นบริเวณช่วงกลางผนังและเป็นรอยแตกร้าวแนวดิ่งดังในรูปที่ 2.13
รูปที่ 2.13 ผนังแตกแนวดิ่งเนื่องจากคานเหนือผนังแอ่นตัว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น