รอยร้าวในอาคาร และการตรวจสอบ

                รอยร้าว เป็นตัวบ่งชี้ให้ทราบว่ามีสิ่งปกติเกิดขึ้นเมื่อใดก็ตามที่พบเห็นรอยร้าวเกิดขึ้นในอาคารควรวิเคราะห์หาสาเหตุให้แน่ชัดว่าเกิดขึ้นจากอะไรเพื่อจะทำการแก้ไขได้อย่างถูกต้องและควรแก้ไขเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการวิบัติพังทลายของอาคารในภายหลัง


                การวิเคราะห์หาสาเหตุการแตกร้าวนั้นจำเป็นต้องรู้จักรูปแบบและลักษณะของการแตกร้าวชนิดต่าง ๆ เช่น อาคารบางหลังพบว่ามีรอยแตกร้าวที่ท้องพ้นและท้องคานแทบทุกตัว เจ้าของอาคารมีความเข้าใจว่าฐานรากทรุดตัวจึงมีความคิดว่าจะแก้ไขด้วยการเสริมฐานราก แต่เมื่อสำรวจการทรุดตัวแล้วกลับไม่พบว่าฐานรากมีการทรุดตัวแต่อย่างใด การเสริมฐานรากจึงต้องระงับไปเปลี่ยนเป็นการเสริมโครงสร้างแทน จะเห็นได้ว่าถ้าวิเคราะห์สาเหตุของรอยร้าวผิดพลาดอาจทำให้หลงทางแก้ไขไม่ถูกวิธีเสียทั้งเงินและเวลาที่อาจต้องกลับมาแก้ไขซ้ำอีก รูปแบบและลักษณะของรอยร้าวจึงนับเป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจเป็นอันดับแรก เพื่อให้วิเคราะห์สาเหตุได้อย่างถูกต้องก่อนที่จะทำการแก้ไข เพราะฉะนั้นจึงจำแนกตามสาเหตุของการเกิดรอยร้าวได้ดังนี้

                2.4.1   รอยร้าวเนื่องจากวัสดุเสื่อมสภาพ
                รอยแตกร้าวชนิดนี้มักจะเกิดขึ้นที่ผิวของคอนกรีต หรือเนื้อคอนกรีตส่วนที่หุ้มเหล็กเสริม รอยแตกร้าวไม่ลึกถึงแกนกลางของโครงสร้างพอจำแนกได้ 2 แบบ คือ
                1)  รอยร้าวเฉพาะที่ผิวคอนกรีตเป็นผลมาจากคอนกรีตเสื่อมสภาพคอนกรีตเกิดการยืดหดตัวถูกกัดเซาะจากสารเคมีหรือสิ่งแวดล้อมที่มีซัลเฟตมาก
                การแตกร้าวเช่นนี้มักจะเกิดเป็นกลุ่ม ๆ หรือเป็นหย่อม ๆ หรืออาจเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างมีลักษณะเป็นลายงา รูปดาว เป็นตาข่ายใยแมงมุมหรือเป็นริ้ว ๆ รูปแบบรอยร้าวไม่แน่นอนเมื่อกะเทาะผิวตรงบริเวณที่มีรอยแตกออกจะพบว่ารอยร้าวเข้าไปไม่ถึงแกนกลางของคอนกรีต เว้นแต่การแตกร้าวที่เกิดจากการกัดเซาะของซัลเฟตหรือสารเคมีเป็นเวลานาน จนอาจทำให้คอนกรีตยุบและแตกร้าวทะลุถึงแกนกลางได้ดังในรูปที่ 2.4
  

รูปที่ 2.4  รอยแตกลายงาที่ผนัง เกิดจากปูนฉาบสูญเสียน้ำหรือน้ำระเหยจากปูนฉาบเร็ว
                  หรือเพราะอุณหภูมิภายนอกสูง

                2)  รอยร้าวลึกจนถึงเหล็กเสริมมักจะเกิดจากเหล็กเสริมเป็นสนิม การเกิดสนิมของเหล็กอาจเป็นเพราะคอนกรีตที่หุ้มเหล็กเสริมมีความหนาน้อยเกินไป หรืออยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีความเข้มข้นของคลอไรด์สูงหรืออยู่ในสภาพที่ชุ่มน้ำและแห้งสลับกัน เหล็กสัมผัสความชื้นจนเกิดปฏิกิริยาอ๊อกซิเดชั่นกลายเป็นสนิม เมื่อเหล็กเป็นสนิมแรงยึดเกาะระหว่างเหล็กและคอนกรีตจะลดลงเกิดการบวมตัวของเหล็กจนทำให้คอนกรีตที่หุ้มเหล็กตรงบริเวณที่เป็นสนิมนั้นกะเทาะหลุดล่อนออกโดยทั่วไป
                รอยร้าวชนิดนี้เมื่อเกิดในระยะแรก ๆ จะเป็นรอยแตกตามยาวขนานกับเหล็กเสริมมักจะพบมากบริเวณท้องพื้นมุมเสา และท้องคานที่สัมผัสความชื้นบ่อย ๆ ตัวอย่างรอยร้าวประเภทนี้ได้แก่
                ก)  รอยแตกของเสาในแนวดิ่ง รอยแตกอยู่บริเวณขอบเสาเป็นรอยร้าวขนานกับเหล็กยืนมักจะเกิดกับเสาชั้นล่างของอาคารและเป็นบริเวณโคนเสาที่สัมผัสกับดินหรือใกล้กับสนามหญ้าหรือต้นไม้ที่มีการรดน้ำอยู่เสมอ ๆ เสาในส่วนอื่นของอาคารที่มักพบว่ามีการแตกร้าว เช่นนี้ก็มี เช่นเสาบริเวณห้องน้ำระเบียงหรือส่วนที่สัมผัสความชื้นมาก ๆ ดังในรูปที่ 2.5

 
รูปที่ 2.5  รอยร้าวที่ขอบเสาเป็นแนวยาวลักษณะเช่นนี้จัดเป็นรอยร้าว เนื่องจากวัสดุเสื่อมคุณภาพ
                   ถ้าทิ้งไว้ต่อไปคอนกรีตที่ปิดผิวเหล็กจะกะเทาะหลุดล่อนออกจนเห็นเหล็กเสริม [1]

                ข)  รอยร้าวที่ขอบหรือมุมของคานมักเกิดตามแนวยาวของคานคอนกรีตที่ผิวอาจกะเทาะหลุดล่อน มีลักษณะเช่นเดียวกับที่เกิดในเสาดังในรูปที่ 2.6


 
รูปที่ 2.6  สภาพรอยร้าวของคานเนื่องจากวัสดุเสื่อมสภาพคอนกรีตผิวกะเทาะหลุดออก [1]

                ค)  รอยร้าวใต้ท้องพื้นโดยเฉพาะพื้นชั้นดาดฟ้าที่ไม่มีหลังคาคลุมรอยแตกร้าวลักษณะเช่นนี้มีลักษณะเป็นเส้น ๆ ขนานกันรอยแตกตรงกับตำแหน่งของเหล็กเสริมและแตกตามยาวตามทิศทางของเหล็กเสริม เมื่อปล่อยไว้นาน ๆ คอนกรีตจะกะเทาะออกจนเห็นเหล็กเสริมเกือบทั้งหมดดังในรูปที่ 2.7


 
รูปที่ 2.7  คอนกรีตกะเทาะหลุดออกจนเห็นเหล็กเสริมสภาพของเหล็กเสริมส่วนใหญ่เป็นสนิม [1]

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ระบบเสาและคาน (Skeleton Frame or Column and Beam)

Diaphragm Wall